รูปหน้าปก

ข้อแตกต่างในการสร้าง อาคารสาธารณะ VS อาคารพาณิชย์

          การก่อสร้างอาคารประเภทต่าง ๆ นั้นมีรูปแบบของอาคารในงานสถาปัตยกรรมมากมายหลายรูปแบบ ไม่ใช่เพียงแค่ประโยชน์ด้านการใช้งาน แต่รวมถึงข้อกฎหมายในการออกแบบและก่อสร้างแบบอาคารต่าง ๆ ซึ่งตามกฎหมายแล้วได้มีการแบ่งประเภทอาคารไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 55 พ.ศ. 2543 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

อาคารสาธารณะ 

อาคารที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการชุมนุมคนได้โดยทั่วไปเพื่อกิจกรรมทางราชการ การเมือง การศึกษา การศาสนา การสังคม การนันทนาการ หรือการพาณิชยกรรม เช่น โรงมหรสพ หอประชุม โรงแรม โรงพยาบาล สถานศึกษา หอสมุด สนามกีฬากลางแจ้ง สนามกีฬาในร่ม ตลาด ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานบริการ ท่าอากาศยาน อุโมงค์ สะพาน อาคารจอดรถ สถานีรถ ท่าจอดเรือ โป๊ะจอดเรือ สุสาน ฌาปนกิจสถาน ศาสนสถาน

อาคารพาณิชย์ 

อาคารที่ใช้เพื่อประโยชน์พาณิชยกรรม หรือบริการธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังการผลิตเทียบได้น้อยกว่า 5 แรงม้า และให้หมายความรวมถึงอาคารอื่นใดที่ก่อสร้างห่างจากถนน หรือทางสาธารณะไม่เกิน 20 เมตร ซึ่งอาจใช้เป็นอาคารเพื่อประโยชน์ในการพาณิชยกรรมได้

ข้อบัญญัติเรื่องการควบคุมการก่อสร้าง พ.ศ. 2522 กำหนดไว้ดังนี้ 

  • บันไดภายในอาคารพาณิชย์ ต้องมีขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร ช่วงหนึ่งสูงไม่เกิน 4 เมตร ลูกตั้งสูงไม่เกิน 19 เซนติเมตร และลูกนอนกว้างไม่น้อยกว่า 24 เซนติเมตร
  • บันไดอาคารสาธารณะ ต้องมีขนาดกว้าง 1.50 เมตร หรือขนาดกว้าง 1.20 เมตรแต่ต้องมี 2 บันได
  • ห้องแถว ตึกแถว อาคารพาณิชย์ โรงงาน อาคารสาธารณะ และอาคารอื่นซึ่งไม่ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่า 10 ใน 100 ส่วนของพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่งที่มากที่สุดของอาคาร
  • ห้องแถว ตึกแถว อาคารพาณิชย์ โรงงาน อาคารสาธารณะ และอาคารอื่นที่ใช้เป็นที่พักด้วยให้มีที่ว่างอยู่ 30 ใน 100 ส่วนของพื้นที่ 
  • ห้องขายสินค้าในอาคารพาณิชย์ต้องมีความสูงจากพื้นถึงเพดานไม่น้อยกว่า 3.50 เมตร หากมีระบบปรับอากาศสูงไม่น้อยกว่า 3 เมตร 
  • ตึกแถว ห้องแถว อาคารพาณิชย์ ที่ได้ร่นแนวห่างจากเขตทางสาธารณะไม่เกิน 2 เมตร ท้องกันสาดของพื้นที่ชั้นแรกต้องสูงจากระดับทางเท้าที่กำหนด 3.25 เมตร ระเบียงด้านหน้าอาคารมีได้ตั้งแต่ระดับพื้นชั้นที่สามขึ้นไป และยื่นได้ไม่เกินส่วนยื่นสถาปัตยกรรม 
  • ห้ามมิให้ปลูกสร้างอาคารสูงกว่าระดับพื้นดินเกินสองเท่า ของระยะจากผนังด้านหน้าของอาคารจดแนวถนนฟากตรงข้าม 
  • ตึกแถว ห้องแถว อาคารพาณิชย์ที่ปลูกสร้างริมทางสาธารณะที่มีความกว้างน้อยกว่า 10 เมตร ให้ร่นแนวอาคารห่างจากศูนย์กลางทางสาธารณะอย่างน้อย 6 เมตร แต่ถ้ามีความกว้างตั้งแต่ 10 เมตร ให้ร่นแนวอาคารห่างจากแนวถนนอย่างน้อย 1 ใน 10 ของความกว้างแนวถนน สำหรับริมทางสาธารณะที่กว้างกว่า 20 เมตร ให้ร่นแนวอาคารห่างจากแนวถนนอย่างน้อย 2 เมตร 
  • สำหรับอาคารหลังเดียวกันซึ่งมีถนนสองสายขนาบอยู่ และถนนสองสายนั้นขนาดไม่เท่ากัน เมื่อส่วนกว้างของอาคารนั้นไม่เกิน 15 เมตร ให้ปลูกสร้างสูงได้สองเท่าของแนวถนนที่กว้างกว่าได้ทั้งหลัง 
  • สำหรับอาคารหลังเดียวกัน ซึ่งอยู่ที่มุมถนนสองสายขนาดไม่เท่ากัน ให้ปลูกสร้างได้สูงสองเท่าของแนวถนนที่กว้างกว่า ลึกไปตามถนนที่แคบกว่าไม่เกิน 15 เมตร 
  • อาคารที่ปลูกสร้างชิดเขตที่ดินต่างผู้ครอบครอง อนุญาตให้เฉพาะฝาผนังทึบไม่มีประตูหน้าต่างและช่องระบายอากาศอยู่ชิดเขตได้พอดี 
  • ห้องแถว ตึกแถว อาคารพาณิชย์ สูงไม่เกินสามชั้น และไม่อยู่ริมทางสาธารณะ ต้องมีที่ว่างด้านหน้าอาคารไม่น้อยกว่า 6 เมตร ถ้าสูงเกินสามชั้นต้องมีที่ว่างด้านหน้าอาคาร ไม่น้อยกว่า 12 เมตร ในกรณีที่อาคารหันหน้าเข้าหากันให้มีที่ว่างร่วมกันได้ ในกรณีที่หันหน้าตามกัน ให้ที่ว่างด้านหน้าของอาคารแถวหลังเป็นทางเดินหลังของอาคารแถวหน้าด้วย 
  • ห้องแถว ตึกแถว อาคารพาณิชย์ จะต้องมีที่ว่างโดยปราศจากสิ่งปกคลุม เป็นทางเดินหลังอาคารได้ถึงกันกว้างไม่น้อยกว่า 2 เมตร ในกรณีที่อาคารหันหลังเข้าหากันจะต้องเว้นทางเดินด้านหลังไม่น้อยกว่า 4 เมตร 
  • ห้องแถว ตึกแถว อาคารพาณิชย์ ต้องมีช่องหน้าต่างหรือประตูเปิดสู่ภายนอกได้ไม่น้อยกว่า 20 ใน 100 ส่วนของพื้นที่อาคารทุกชั้น ทั้งนี้ถ้าอาคารอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร และใช้เพื่อการพาณิชย์ ต้องจัดให้มีพื้นที่จอดรถยนต์ในสัดส่วน 20 ตารางเมตรต่อ 1 คัน
  • อาคารที่สูงเกิน 2 ชั้นหรือเกิน 8 เมตร ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว อาคารพาณิชย์ โรงงาน อาคารสาธารณะ ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย หรือคลังสินค้า ที่ก่อสร้างสร้างใกล้ถนนสาธารณะที่มีความกว้างต่างๆ ให้มี ระยะร่น ดังนี้
  1. ถนนสาธารณะที่มีความกว้างน้อยกว่า 10 เมตร ให้ร่นแนวอาคารห่างจากกึ่งกลางถนนสาธารณะไม่น้อยกว่า 6 เมตร
  2. ถนนสาธารณะที่มีความกว้างตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป แต่ไม่เกิน 20 เมตร ให้ร่นแนวอาคารห่างจากเขตถนนสาธารณะไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของความกว้างของเขตถนนนั้นๆ เช่น ถ้าถนนกว้าง 12 เมตร แนวอาคารต้องร่นห่างจากเขตถนนเท่ากับ 1.20 เมตร
  3. ถนนสาธารณะที่มีความกว้างตั้งแต่ 20 เมตรขึ้นไป ให้ร่นแนวอาคารห่างจากเขตถนนสาธารณะไม่น้อยกว่า 2 เมตร

แม้ว่าอาคารสาธารณะจะไม่ได้ข้อกำหนดในการก่อสร้างส่วนต่าง ๆ อย่างชัดเจน แต่สามารถจำแนกด้วยองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น จุดประสงค์ในการใช้งาน ความสูงของอาคาร เป็นต้น เพื่อเป็นข้อมูลในการดำเนินการสร้างตามข้อกำหนดของกฎหมาย หากต้องการปรึกษาเรื่องการออกแบบและการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ติดต่อ FU LU SHOU Architecture ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบสิ่งปลูกสร้าง พร้อมออกแบบอาคารตามหลักฮวงจุ้ยที่ดีเพื่อธุรกิจที่รุ่งเรือง เป็นเพื่อนคู่คิด เป็นมิตรกับซินแส การันตีด้วยผลงานที่ลูกค้าทุกท่านพึงพอใจ

เครดิต: chongsakae

asa

asa

yotathai