การสร้างบ้านหรือสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ตามความเชื่อของไทยตั้งแต่โบราณนั้นต้องมีการทำพิธี “การวางเสาเอก” เพื่อความเป็นสิริมงคล เชื่อว่าจะทำให้อยู่เย็นเป็นสุข ทำมาค้าขึ้น ทำกิจการใด ๆ ก็รุ่งเรือง โดยเฉพาะการสร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม โกดัง เป็นต้น ซึ่งในทุกขั้นตอนของการวางเสาเอกนั้นมีความหมายและความสำคัญอย่างมากในความเชื่อ
เสาเอกคืออะไร?
ในเชิงสถาปัตยกรรมเสาเอกบ้านเป็นโครงสร้างที่มีความสำคัญทั้งบ้าน อาคาร หรือโรงงานอุตสาหกรรมฯ เพราะทำหน้าที่รับน้ำหนักของสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งวัสดุที่ใช้ในการสร้างเสาเอกนั้นจะเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย สมัยโบราณคนไทยมักสร้างบ้านจากไม้ เสาเอกจึงใช้ไม้เป็นหลักโดยไม้ที่เลือกนำมาทำเสาเอกควรเป็นไม้มงคลความหมายดี
แต่ปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นคอนกรีต ซึ่งตามความเชื่อนั้นเสาเอกของบ้านจะแสดงถึงความมั่นคง
ฤกษ์งามยามดี
วันและเวลามงคลในการทำพิธีลงเสาเอกจะยึดตามเวลาและวันมงคลที่ถูกโฉลกกับวันเดือนปีเกิดของเจ้าของบ้านหรือเจ้าของกิจการเป็นหลัก แต่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับการใช้เลข 9 เพราะเชื่อว่าเป็นเลขมงคล เช่น 9:59, 9:00, 8:59 เป็นต้น รวมทั้งต้องมีการคำนวณทิศเพื่อการกำหนดตำแหน่งของเสาเอกที่เหมาะสมของสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ ล
การเตรียมของมงคลในพิธีลงเสาเอก
- โต๊ะหมู่บูชา
- เครื่องสักการะ
- ชุดจตุปัจจัยไทยสำหรับถวายพระ
- สายสิญจน์
- ผ้าสามสี
- ผ้าหัวเสา
- ผ้าห่มเสา
- ผ้าแพรสีแดงหรือผ้าขาวม้า
- เครื่องสำหรับบูชาฤกษ์หรือเครื่องสังเวยเทวดา
- แผ่นนาก,แผ่นเงิน,แผ่นทอง,ทองคำเปลว
- ข้าวตอกดอกไม้
- เหรียญเงินและทองอย่างละ 9 เหรียญ
- น้ำมนต์ 1 ขันและหญ้าคา 1 กำ
- หน่ออ้อยและกล้วย
- ทรายเสก
- แป้งตอกตามเหมาะสม
- ไม้มงคล 9 อย่าง
- ใบไม้มงคล
9 ไม้มงคลสำหรับลงเสาเอก
- ไม้ราชพฤกษ์: ให้อำนาจบารมี ความก้าวหน้ายิ่งใหญ่ มีวาสนาดี
- ไม้ขนุน: มีคนคอยให้ความเกื้อหนุน ทำสิ่งใดก็สำเร็จลุล่วง
- ไม้ชัยพฤกษ์: มองเห็นชัยชนะ ทำดีมีโชคแห่งความสำเร็จ
- ไม้ทองหลาง: ช่วยเรื่องเงินทองให้สมบูรณ์พูนสุข
- ไม้ไผ่สีสุก: ให้ความร่มเย็น ความสุขกับทุกคนในบ้าน
- ไม้ทรงบาดาล: มีความแข็งแรง มั่นคง ไม่ล้มลงง่าย ๆ เมื่อเจออุปสรรค
- ไม้สัก: การมีศักดิ์ศรี มีผู้คนยกย่องให้เกียรติ
- ไม้พะยูง: ช่วยพยุงค้ำจุนให้ทุกคนในบ้านมีฐานะดี
- ไม้กันเกรา: หยุดปัญหา อุปสรรคต่าง ๆ ที่จะเข้ามาในบ้าน เสริมความมั่นคงให้กับครอบครัว
***ห้ามขาดไม้มงคลชนิดใดชนิดหนึ่งเด็ดขาด***
ใบไม้มงคล
- ใบทอง ใบเงิน ใบนาก เสริมทรัพย์สินเงินทอง
- ใบทับทิม ขจัดความทุกข์ต่าง ๆ
- ใบพลู เสริมยศถาบรรดาศักดิ์
- ใบมะรุม เสริมเสน่ห์และความนิยม
- ใบมะขาม เสริมความน่าเกรงขาม
- ใบยอ ช่วยให้มีคนสรรเสริญ
- ใบมะยม เสริมความนิยมรักใคร่
- ใบโกศล เสริมบุญกุศลและบารมี
- ใบวาสนา เสริมวาสนา
- ใบโมก ช่วยให้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง
- ใบชวนชม เสริมความมั่งคั่ง ร่ำรวย
พิธีการลงเสาเอก
- เตรียมเสาเอกให้เรียบร้อยก่อนถึงวันพิธี โดยนำหน่อกล้วย หน่ออ้อย และผ้าสามสีผูกกับเสาเหล็กที่ใช้เป็นเสาเอก
- วางสายสิญจน์ตั้งแต่โต๊ะหมู่บูชาไปจนถึงบริเวณเสาเอก ขั้นตอนนี้หากไม่มีผู้ทำพิธีโดยเฉพาะ อาจให้ผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือ หรือเจ้าของบ้านเป็นผู้ทำพิธีก็ได้
- เจ้าภาพจุดธูปเทียนที่โต๊ะหมู่บูชา อธิษฐานถึงความเป็นสิริมงคล และกราบพระที่โต๊ะหมู่บูชาและโต๊ะเครื่องสังเวยเทวดาให้ช่วยคุ้มครอง
- ตอกไม้มงคล 9 ชนิดลงไปในหลุมเสาเอก
- วางแผ่นนาก แผ่นเงิน แผ่นทอง และเหรียญเงินลงไปในหลุม
- นิมนต์พระสงฆ์พรมน้ำมนต์ โปรยทรายเสกลงที่หลุมเสาเอก เจิม และปิดแผ่นทองที่เสาเอก
- เจ้าภาพและผู้ร่วมพิธีร่วมกันถือสายสิญจน์ และยกเสาเอกให้เรียบร้อย
- เจ้าภาพโปรยข้าวตอกดอไม้ และแป้งหอมลงที่หลุมเสาเอก
การวางเสาเอกนั้นเป็นโครงสร้างหลักในเชิงสถาปัตยกรรมแล้ว ยังถือเป็นเป็นพิธีกรรมความเชื่อของโบราณที่ทำเพื่อความสบายใจของเจ้าของกิจการหรือเจ้าของบ้าน โดยถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี เสริมความเป็นสิริมงคล และเพื่อให้กิจการนั้นเจริญรุ่งเรือง
หากกำลังหาที่ปรึกษาสำหรับสร้างบ้านหรือโรงงานอุตสาหกรรมฯ FU LU SHOU Architecture พร้อมให้คำปรึกษาในการออกแบบโรงงานตามความต้องการ รับเหมาต่อเติมโรงงาน ขยายโรงงาน และปรับปรุงโครงสร้างอาคารโรงงาน พร้อมวางตามหลักฮวงจุ้ยที่ดี